วิทยานิพนธ์จบยากไหม?
เนื้อหาประมาณไหน?
สอบหัวข้อแล้วต้องเริ่มอย่างไร?
เหลือเวลาแค่เดือนเดียวจะทำวิทยานิพนธ์ทันไหม?
ตอนนี้เหมือนคนกำลังหลงทางกับการเรียงลำดับการทำ ใครพอจะช่วยแนะนำเราได้บ้าง?
ภาพจาก pexels.com
ใครเคยมีคำถามเหล่านี้อยู่ในหัวบ้าง คำถามดังกล่าวข้างต้นเป็นปัญหาที่นักศึกษาทุกคนต้องเจอเมื่อใกล้ถึงเวลาที่จะจบการศึกษา ซึ่งนั่นก็คือปัญหาในการทำวิทยานิพนธ์นั่นเอง ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่าวิทยานิพนธ์คือ ผลงานทางวิชาการที่นำเสนออย่างเป็นระบบบนพื้นฐานจากการค้นคว้า และวิจัย เป็นสิ่งที่นักศึกษาทุกคนต้องทำ และคิดว่ายาก แต่หากว่านักศึกษาทำความเข้าในหลักการในการทำงานวิทยานิพนธ์ และรู้จักเทคนิคบ้าง ก็จะทำให้การทำวิทยานิพนธ์ที่คิดว่ายากกลับกลายไปง่ายทันที เนื่องจากมีกระบวนการคิดและวิธีทำวิทยานิพนธ์ที่ถูกต้อง ดังนั้นสำหรับการเริ่มต้นการทำวิทยานิพนธ์ ผู้เขียนบทความจึงจะมาบอกเคล็ดลับในขั้นตอนการทำวิทยานิพนธ์ที่ไม่ยากอย่างที่คิด ถ้าท่านทำตามลำดับขั้นตอนตามบทความนี้
ขั้นตอนที่สำคัญของการทำวิทยานิพนธ์
1. การเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์
ในการเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์นักศึกษาควรเลือกหัวข้อที่ตนเองสนใจที่จะทำจริงๆ เนื่องจากเรื่องที่นักศึกษาสนใจ ท่านจะมีข้อมูลพื้นฐานความรู้เดิมในการแก้ไขปัญหาและตอบคำถามกับท่านอาจารย์ที่ปรึกษา ตอนสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ นอกจากนั้นการเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่นักศึกษาสนใจและถนัด ท่านจะสามารถวางแผนและต่อยอดงานวิทยานิพนธ์ต่อไปได้ดี
ซึ่งเคล็ดลับในการเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ ผู้เขียนขอแนะนำ ดังนี้
1.1 ลองหาหัวข้อจากงานวิจัยก่อนหน้าที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับหัวข้อที่เราสนใจ
1.2 ลองหาประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องหรือสอดคล้องกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ของท่าน
1.3 ลองอ่านหนังสือ วารสาร บทความ งานวิจัย และวิทยานิพนธ์ เพื่อเป็นตัวอย่าง และใช้เป็นแนวทางกำหนดประเด็นปัญหา
1.4 ลองทำการสำรวจสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ๆ ตัว สำรวจปัญหาของอาชีพในท้องถิ่นที่เราอยู่ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง
1.5 คำนึงถึงการเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ถึงความเหมาะสมในเรื่อง ความปลอดภัย เวลา งบประมาณ และกำลังของตนว่าจะไม่กระทบต่อสิ่งเหล่านั้น
1.6 เลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์จากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และงานนั้นต้องสามารถสร้างคุณค่าให้ตัวงานวิทยานิพนธ์ของท่านได้ด้วย
เมื่อท่านได้หัวข้อวิทยานิพนธ์ที่สนใจให้ทำการวางแผนขั้นตอนดำเนินการต่างๆ ไว้ล่วงหน้า แล้วค่อยๆ ทำการวางแผนการดำเนินการตามที่ไว้วางเป้าหมายไว้ ซึ่งการตั้งหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่ดีจะต้องเป็นหัวข้อที่มีประโยชน์ ทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆ สามารถหาคำตอบได้จากวิธีทางวิทยาศาสตร์ หรือวิจัย สามารถตรวจสอบสมมติฐานเพื่อหาข้อสรุปได้ และไม่ควรที่จะกว้างเกินขอบเขตที่ตั้งเอาไว้
2. ศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
การศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องถือว่าเป็นการหาข้อมูลเพิ่มเติมจากประเด็นที่เราสนใจที่จะศึกษา หรือนำมาต่อยอดงานวิทยานิพนธ์ของท่านให้มีคุณค่ามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องควรทำการศึกษางานวิจัยที่มีการศึกษามาแล้วไม่เกิน 5-10 ปี เนื่องจากโลกในยุคโลกาภิวัฒน์นั้นหมุนเวียนผันเปลี่ยนไปรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี ดังนั้นพฤติกรรม การทำงาน วิถีชีวิต ความต้องการ จึงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน หากท่านทำผลงานวิทยาพนธ์ที่เกี่ยวกับการตลาด สังคม การปฏิบัติงาน พฤติกรรมการใช้ หรือแม้แต่ความต้องการ ท่านจึงควรใช้งานวิจัยในช่วงระหว่าง 5-10 ปี เนื่องจากท่านสามารถนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานของท่านมาหยิบยกหรือวิเคราะห์ พฤติกรรม และปัญหาต่างๆ ได้ เช่น ปัญหาการปฏิบัติใน 5 ปี ที่แล้ว กับปัญหาการทำงานใน 5 ปีปัจจุบัน อาจจะแตกต่างกัน หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เห็นได้ชัดเจนจากการเปลี่ยนของของเทคโนโลยีที่รวดเร็วขึ้น ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังกล่าวอาจเป็นประเด็นที่ท่านสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบ หรือหยิบยกปัญหาต่างๆ มาวิเคราะห์เหตุการณ์ที่ผ่านมาได้
ซึ่งเคล็ดลับในการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนขอแนะนำ ดังนี้
2.1 ท่านควรรวบรวมข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับท่านไว้ให้มากที่สุด เพื่อศึกษาสภาพปัญหา หลักการ และเหตุผลของประเด็นปัญหาว่าปัจจุบันมีสภาพปัญหาอะไรที่น่าสนใจบ้าง
2.2 ท่านควรสำรวจขอบเขตของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องว่ากว้างเพียงใด มีแนวคิด ทฤษฎีใดเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานวิทยานิพนธ์ของท่านมากน้อยเพียงใด
2.3 ท่านควรสำรวจงานวิจัยทั้งหมดที่เกี่ยวข้องว่ามีประเด็นปัญหามีจำนวนกี่เรื่อง และผลการวิจัยเป็นอย่างไร
2.4 ท่านควรสำรวจเครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องว่ามีกี่ชนิด เป็นลักษณะแบบใด
2.5 ท่านควรสำรวจดูงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมาว่ามีการใช้สถิติวิจัยใดบ้าง
หลังจากได้งานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาแล้วท่านจะต้องทำการทบทวน และวิเคราะห์ความสอดคล้องข้อมูลที่ตรงกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่ท่านศึกษา ซึ่งการวิเคราะห์ดังกล่าวจะทำให้ช่วยให้ท่านได้ทราบข้อมูลต่างๆ ที่เราจะต้องทำตั้งแต่ขั้นตอนแรกถึงขั้นตอนสุดท้ายได้ ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะเป็นขั้นตอนที่นานที่สุด เนื่องจากท่านจะต้องอ่านเอกสารที่เกี่ยวข้องตั้งแต่แรกจนจบทั้งหมด แล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ จับประเด็นที่สำคัญออกมาเขียนเรียบเรียง โดยเลือกเอาเฉพาะข้อมูลที่สนใจจะศึกษาจริงๆ เท่านั้นมาเขียน และทำการสรุปเชื่อมโยงข้อมูลในขั้นตอนสุดท้าย
3. กำหนดขอบเขตเรื่องที่ศึกษา
การกำหนดขอบเขตเรื่องที่ศึกษา ท่านต้องกำหนดถึงความต้องการของหัวข้อวิทยานิพนธ์ให้มีความชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในระหว่างการทำงาน นอกจากนั้นการกำหนดขอบเขตของงานควรขึ้นอยู่กับงบประมาณ และระยะเวลาในการทำวิทยานิพนธ์ที่ได้ทำการวางแผนไว้ด้วย
ซึ่งเคล็ดลับในการกำหนดขอบเขตเรื่องที่ศึกษา ผู้เขียนขอแนะนำว่า ควรประกอบไปหัวข้อหลักๆ ดังนี้
3.1 ขอบเขตด้านเนื้อหา ท่านจะต้องแจกแจงรายละเอียดว่าเนื้อหาที่ท่านกำลังจะศึกษานั้นประกอบไปด้วยแนวคิดอะไรบ้าง และงานวิทยานิพนธ์ดังกล่าวเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพ ควรระบุให้ชัดเจน
3.2 ขอบเขตด้านประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ท่านจะต้องระบุว่าประชากรที่จะศึกษาเป็นใคร มีจำนวนเท่าไร อายุเท่าไร และสามารถคำนวณกลุ่มตัวอย่างได้เท่าไร ในขั้นตอนนี้ ท่านควรใส่อ้างอิงที่มาของประชากรด้วย เพื่อความน่าเชื่อถือของข้อมูล
3.3 ขอบเขตด้านพื้นที่ หัวข้อนี้ท่านจะต้องระบุว่าท่านจะศึกษากลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ไหน
3.4 ขอบเขตด้านระยะเวลา หัวข้อนี้เป็นหัวข้อสุดท้ายที่ควรจะกำหนด เพราะจะเป็นการบอกว่าท่านจะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นทั้งหมดกี่เดือนในการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งหัวข้อนี้ควรอ้างอิงตามแผนที่ได้วางไว้ตั้งแต่แรก
4. กรอบแนวความคิด
กรอบแนวความคิดจะถือว่าเป็นแผนที่ในการทำวิทยานิพนธ์ทั้งหมด เนื่องจากในกรอบแนวคิดจะเป็นผลที่แสดงให้เห็นว่าท่านใช้แนวคิด ทฤษฏีที่เกี่ยวข้องอะไรในการนำมาหักล้างเหตุผล หรือแก้ไขปัญหางานวิทยานิพนธ์ของท่าน ซึ่งเส้นทางของกรอบแนวความคิดจะสร้างความชัดเจน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การกำหนดกรอบทิศทางในการทำวิจัยที่เหมาะสม ซึ่งท่านจะนำมาสรุปเป็นแผนภูมิก็ได้ หรือจะนำมาเขียนเป็นแผนภูมิแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสองตัวแปรออกมาเป็นกรอบแนวคิดก็ได้่
ซึ่งเคล็ดลับในการเขียนกรอบแนวความคิด ผู้เขียนขอแนะนำ ดังนี้
4.1 กรอบแนวความคิดต้องประกอบไปด้วยตัวแปรอิสระ และตัวแปรตาม
4.2 หัวลูกศรเส้นทางของตัวแปรจะต้องเขียนให้ชัดเจน และถูกต้อง เพราะถ้าหากเขียนผิดนั่นหมายถึงการใช้สถิติที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
5. เครื่องมือการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย อาจจะเป็นอุปกรณ์สำหรับการทดลอง แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แผนการศึกษาสำหรับนักเรียน หรือโปรแกรมที่ใช้ทำการทดลอง ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการวิจัยด้วยเช่นกัน เพราะเครื่องมือดังกล่าวจะนำมาใช้สำหรับรวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์หาคำตอบและทดสอบสมมติฐานต่อไป
ซึ่งเคล็ดลับในการสร้างเครื่องมือการวิจัย ผู้เขียนขอแนะนำ ดังนี้
5.1 เครื่องมือการวิจัยต้องสอดคล้องกับแนวคิด ทฤษฎีที่จะศึกษา
5.2 ข้อคำถามในเครื่องมือการวิจัย ต้องไม่เยอะ หรือน้อยจนเกินไป
5.3 เครื่องมือการวิจัยที่ท่านได้สร้างขึ้นมาจะต้องผ่านการตรวจสอบเนื้อหาก่อนว่า ข้อคำถามครอบคลุมวัตถุประสงค์หรือไม่ หลังจากการนำเครื่องมือการวิจัยไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาตรวจสอบ และนำมาปรับปรุงตามคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา
5.4 นำเครื่องมือการวิจัยที่ปรับปรุงตามคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา มาตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา (Content validity) จากนั้นปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษาอีกครั้ง
5.4 นำเครื่องมือการวิจัยที่ได้ไปทดลองใช้ (pre-test) กับ กลุ่มตัวอย่างที่คล้ายกับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 คน เพื่อหาคุณภาพเครื่องมือ โดยการหาค่าความเที่ยงหรือความเชื่อถือได้ของแบบสอบถาม (Reliability) ตามสูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค (Cronbach’s Alpha) และใช้โปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ในการคำนวณ เพื่อให้ได้ค่าความเที่ยงหรือความเชื่อถือได้ของเครื่องมือการวิจัยที่มากกว่า 0.7 ขึ้นไป หากค่าความเที่ยงหรือความเชื่อถือได้ของเครื่องมือการวิจัยมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้จะถือว่าเครื่องมือการวิจัยนี้มีความเชื่อถือได้ และสามารถนำไปเก็บข้อมูลได้จริง
ภาพจาก Pixabay.com
6. สถิติสำหรับการวิจัย
ซึ่งสถิติสำหรับการวิจัยถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้งานสมบูรณ์แบบมากขึ้น ทำให้ท่านเห็นข้อมูล ปัญหาต่างๆ ข้อดี และข้อเสีย ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งสถิติที่ใช้สำหรับการวิจัยจะมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ สถิติเชิงพรรณา กับสถิติเชิงอนุมาน
ซึ่งเคล็ดลับในการใช้สถิติสำหรับการวิจัย ผู้เขียนขอแนะนำ ดังนี้
6.1 สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive statistics) ใช้สำหรับในการหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ซึ่งสถิตินี้ส่วนใหญ่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประชากรศาสตร์ ทัศนคติของกลุ่มตัวอย่าง เป็นต้น
6.2 สถิติเเชิงอนุมาน (Inferential Statistics) ใช้สำหรับการทดสอบสมมติฐานส่วนใหญ่เป็นสถิติขั้นสูง เช่น สถิติ T-test ANOVA สถิติ Regression ซึ่งสถิตินี้ส่วนใหญ่ใช้สำหรับคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ในขั้นตอนการใช้สถิตินี้หากท่านไม่ถนัด ควรหาตัวช่วยที่มีความรู้ด้านสถิติ มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล เพราะขั้นตอนนี้หากตัวเลขผิดพลาดเพียงตัวเดียวอาจจะกระทบต่อข้อมูลอื่นๆ ในงานวิทยานิพนธ์ของท่านจนต้องรื้อทำใหม่ได้
7. ข้อสรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการวิจัย ถือเป็นส่วนที่สำคัญมาก เนื่องจากข้อสรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ ถือเป็นแนวทางเพื่อให้ท่าน หรือผู้อ่านวิทยานิพนธ์ของท่านสามารถนำข้อสรุปงานวิทยานิพนธ์ของท่าน มาต่อยอด หรือมีแนวทางในการแก้ปัญหา ให้กับสังคม หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรได้บ้าง
ซึ่งเคล็ดลับในการเขียนข้อสรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ ผู้เขียนขอแนะนำ ดังนี้
7.1 ข้อสรุปจากผลการวิจัยต้องสรุปให้สั้น กระชับ และได้ใจความ
7.2 การอภิปรายต้องอภิปรายให้เห็นถึงประเด็นของผลการศึกษาและนำข้อโต้แย้งจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาสอดคล้องเพื่อให้เห็นวิธีการแก้ไขปัญหา หรือข้อแตกต่างของผลการวิจัยของท่าน เพื่อให้งานมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
7.3 ข้อเสนอแนะจะต้องสามารถนำไปต่อยอดในงานที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ ดังนั้นควรระบุว่าใครจะได้อะไรบ้าง และถ้าทำตามคำแนะนำของผู้วิจัยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้อะไรบ้าง
ขั้นตอนทั้ง 7 ที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเป็นองค์ประกอบหลักของการทำวิทยานิพนธ์ที่ดี ถ้าทำตามเคล็ดลับที่ผู้เขียนได้ให้ไปนี้ จะสามารถเปลี่ยนการทำวิทยานิพนธ์ที่คิดว่ายากให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นได้
ช่องทางติดต่อ Tel: 0924766638 คุณอาจุ้ย อีเมล: ichalermlarp@gmail.com LINE: @impressedu (หยุดทุกวันอาทิตย์)