ผู้วิจัยมือใหม่หลายท่านมักจะประสบปัญหาจากการเขียนวิจัยบทที่ 1 เช่น ไม่ทราบว่าจะเขียนความเป็นมา ความสำคัญของปัญหา ตลอดจนเนื้อหา หัวข้อที่เกี่ยวข้อง และกำหนดตัวแปรได้อย่างไร ซึ่งท่านสามารถนำขั้นตอนการเขียนวิจัยบทที่ 1 ดังต่อไปนี้ ไปปรับใช้เพื่อให้การทำงานวิจัยของท่านประสบความสำเร็จและผ่านไปได้โดยง่ายที่สุด
ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ในการร่างหัวข้องานวิจัยแต่ละครั้งจะมีการตั้งประเด็น ว่าปัญหาในการศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับประเด็นปัญหาอะไร
ซึ่งการสืบค้นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับประเด็นปัญหาดังกล่าว เพื่อนำมาศึกษาแนวทางเนื้อหาที่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังกล่าวได้ทำการกล่าวถึงความเป็นมา และความสำคัญของปัญหาไว้อย่างไรบ้าง ใช้เป็นแนวทางในการวางรูปแบบการเขียนความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัย
ตลอดจนการศึกษาหัวข้อวิจัยเกี่ยวกับ วัตถุประสงค์, ขอบเขตของการวิจัย, ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ, นิยามศัพท์ และกรอบแนวคิดการวิจัย จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเล่มดังกล่าว นำไปประยุกต์ใช้กับงานวิจัยของผู้วิจัยให้มีความเชื่อมโยงกันตลอดทั้งบทได้
ข้อดีของการสืบค้นข้อมูลจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอีกประการหนึ่งก็คือ แหล่งอ้างอิงที่ใช้ในการทำงานวิจัยนั้นมีเพียงพอหรือไม่ อย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูลงานวิจัยที่ท่านกำลังจะทำการศึกษา
ขั้นตอนที่ 2 ศึกษาจากแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการวิจัย
นอกจาก งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ที่มีอยู่ในฐานข้อมูลแล้วนั้น ยังมีแหล่งอ้างอิงอื่นๆ ที่สามารถทำการสืบค้นได้ โดยเฉพาะแหล่งอ้างอิงจากการศึกษาจาก สถาบันวิชาการ หรือ ศูนย์การวิจัย ต่างๆ
เช่น ศูนย์การวิจัยเกสิกรไทย หรือ ศูนย์การวิจัยแห่งชาติ ที่ทำการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ภาพรวมของพฤติกรรมผู้บริโภค สภาพสังคม หรือเศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่อง
รวมถึง แหล่งข่าวออนไลน์ ที่ได้รับความนิยม หรือมีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง ก็สามารถที่จะสืบค้นและนำข้อมูลมาทำการเขียนวิจัยบทที่ 1 สำหรับการอ้างอิงในความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาได้
ซึ่งจะทำให้ท่านรู้จักการสืบค้นข้อมูลที่ทันสมัย และเป็นปัจจุบัน เนื่องจากการทำงานวิชาการจำเป็นที่จะต้องใช้การเขียนแหล่งข้อมูลที่ทันสมัยอยู่เป็นประจำ และสม่ำเสมอ
เพราะถ้าหากประเด็นปัญหาที่ท่านทำการวิจัยนั้นล้าสมัยไปแล้ว ท่านสามารถที่จะพลิกแพลงข้อมูลหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะทำให้ท่านสามารถวางแผนปรับปรุงเนื้อหาของการเขียนวิจัยบทที่ 1 ของท่านได้อย่างเหมาะสมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ขั้นตอนที่ 3 นำข้อมูลที่เขียนร่างไว้ไปปรึกษากับอาจารย์
หลายครั้งที่ผู้วิจัยมือใหม่ต้องเขียนโครงร่างงานวิจัยบทที่ 1 แล้วลบทิ้ง ก่อนที่จะทำการเขียนวิจัยบทที่ 1 ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง อาจเป็นเพราะว่าท่านมักจะพิจารณาด้วยมุมมองของตนเองว่างานวิจัยของท่านนั้นยังไม่ดีเพียงพอ ซึ่งนั่นเป็นมุมมองเพียงอย่างเดียวที่มองจากฝ่ายของผู้วิจัย
จึงอยากจะเน้นย้ำให้ท่านเข้าใจก่อนว่า การทำงานวิจัยจำเป็นจะต้องประสานงานระหว่างฝ่ายอาจารย์ที่ปรึกษาวิจัยกับฝ่ายผู้วิจัย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประสานระหว่างการบูรณาการความรู้ ระหว่างประสบการณ์จากอาจารย์ที่ปรึกษากับประสบการณ์ของผู้ทำวิจัย
ดังนั้นหากท่านใช้ประสบการณ์ของท่านเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะทำให้งานวิจัยของท่านมีข้อบกพร่องที่จะทำการเขียนวิจัยบทที่ 1 ของท่านนั้นไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดได้
ดังนั้นวิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดคือท่านจะต้องปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาก่อนทุกครั้งที่ท่านเขียนแบบร่างบทที่ 1 ของท่านเสร็จ หรือเมื่อท่านเขียนหัวข้อความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาและหัวข้ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเสร็จ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งความคืบหน้าให้อาจารย์ที่ปรึกษาพิจารณาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำและสม่ำเสมอ
และหากอาจารย์ที่ปรึกษามีความคิดเห็นคนละอย่างกับตัวผู้วิจัย ก็อาจจะทำให้ต้องกลับมาเขียนบทที่ 1 ใหม่ตั้งแต่ต้น ดังนั้นจึงควรป้องกันปัญหาดังกล่าวโดยการทยอยเขียนทีละหัวข้อของงานวิจัยบทที่ 1 และส่งความคืบหน้าให้อาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำ เพื่อให้ท่านสามารถนำปรับปรุงและเขียนให้สอดคล้องกับคำแนะนำเหล่านั้นได้
ขั้นตอนที่ 4 เขียน เรียบเรียง และนำส่งจากคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษาวิจัย
หลังจากที่ท่านปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาวิจัยแล้ว ก็ควรจะนำแนะนำดังกล่าวนั้นมาปรับปรุงเนื้อหาคุณภาพงานวิชาการของงานวิจัยบทที่ 1 ที่ท่านเขียน ทั้งในเรื่องของความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา ตลอดจนหัวข้อที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งหากท่านสามารถปรับปรุงจากคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษาได้ ก็จะส่งผลให้ท่านสามารถพัฒนางานเขียนของท่านได้อย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และสำเร็จได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นด้วย
จากคำแนะนำทั้ง 4 ขั้นตอน หากท่านสามารถนำส่วนใดส่วนหนึ่งมาประยุกต์ใช้สำหรับการเขียนวิจัยบทที่ 1 ก็จะทำให้ท่านประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี