การเขียนวิจัยบทที่ 1 ทำยากไหม มีขั้นตอนการทำอย่างไร

ในการเริ่มต้นที่จะทำวิจัยสำหรับผู้วิจัยมือใหม่ หลายท่านมักจะประสบกับปัญหาจากการไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเขียนบทที่ 1 ของตนเองอย่างไร หรืออาจจะพอรู้มาบ้าง แต่ยังไม่ทราบองค์ประกอบที่แน่ชัดว่าจะเริ่มต้นตรงไหน จึงทำให้บทที่ 1 ที่เขียนออกมาไม่ตรงประเด็นที่จะศึกษา หรืออาจทำให้ผู้อ่านเกิดความสบสนได้ บทความนี้จึงจะพาผู้วิจัยมือใหม่มาหาคำตอบ และชี้แนะแนวทางในการทำบทที่ 1 ให้ง่ายขึ้น โดยมีขั้นตอนการทำดังนี้

ภาพจาก pexels.com

1. ความเป็นมา และความสำคัญของปัญหาการวิจัย

ในการเขียนบทที่ 1 คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเริ่มต้นจากเขียนความเป็นมา และความสำคัญของปัญหาการวิจัย เนื่องจากหัวข้อนี้ จะเป็นหัวข้อแรกที่ผู้วิจัยต้องเกริ่นนำ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ และความเป็นมาที่ได้ทำวิจัยในครั้งนี้ โดยจะเป็นการเกริ่นนำถึงภาพรวมทั้งหมดของงานวิจัยที่จะทำการศึกษา ความสำคัญของเรื่อง และนำเสนอไปถึงข้อมูลของปัญหาทั้งหมด อธิบายข้อดี ข้อเสีย ของปัญหาเพื่อจูงใจให้ผู้อ่านมีความคล้อยตามไปกับประเด็นเนื้อเรื่องที่ผู้วิจัยได้เรียบเรียงข้อมูลออกมา รวมถึงการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ได้ทำการวิจัย ซึ่งผู้วิจัยควรที่จะมีเอกสารอ้างอิง เพื่อนำมาเป็นเอกสารในการสนับสนุนงานวิจัยที่กำลังศึกษา จากนั้นนำข้อมูลที่ศึกษาทั้งหมดมาสรุปอภิปรายถึงเป้าหมายที่จะทำการแก้ไขปัญหา ซึ่งความเป็นมา และความสำคัญของปัญหาการวิจัย มีวิธีการเขียนง่ายๆ ดังนี้

ย่อหน้าที่ 1 ควรเกริ่นนำ เขียนบรรยายให้เห็นถึงภาพรวม ความสำคัญของเรื่องที่ผู้ทำวิจัยจะทำการศึกษาปัญหานั้น

ย่อหน้าที่ 2-3 ควรหาข้อมูลที่จะนำมาสู่ประเด็นปัญหาในด้านต่างๆ โดยผู้วิจัยจะต้องนำเสนอ และชี้แจงลักษณะสำคัญของปัญหาที่ทำการศึกษานั้น ว่ามีคุณค่ามากพอที่จะทำการศึกษาไหม

ย่อหน้าที่ 4 ควรทำการสรุป รวมถึงตั้งข้อสงสัยถึงแนวทางที่แก้ปัญหา และเขียนบรรยายสรุปโดยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่ทำวิจัยทำการศึกษา พร้อมเสนอหลักการหรือทฤษฎีของงานที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้

ภาพจาก pexels.com

2. วัตถุประสงค์ของการทำวิจัย

วัตถุประสงค์ของการทำวิจัยจะเป็นตัวบ่งบอกถึงคำถามที่ต้องการหาคำตอบ ซึ่งผู้วิจัยจะต้องเขียนให้เห็นถึงประเด็นย่อย โดยจะเขียนเป็นข้อหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับประเภทของงานวิจัยที่ต้องการจะทำ และต้องเขียนวัตถุประสงค์ให้อยู่ในกรอบของชื่อเรื่องการวิจัยด้วย อาจจะเขียนให้อยู่ในรูปแบบของประโยคบอกเล่า ดังนี้

  1. เพื่อศึกษาสาเหตุของปัญหา
  2. เพื่อศึกษาข้อมูลขององค์กร ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่เลือก 
  3. เพื่อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา

ซึ่งรูปแบบทั้งหมดที่กล่าวอาจจะเลือกมาใช้ข้อใดข้อหนึ่ง หรืออาจจะนำมาใช้ทั้งหมดก็ได้

3. การตั้งสมมุติฐาน

การตั้งสมมติฐานถือเป็นการตั้งข้อสังเกตุ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นการตั้งสมมติฐานจึงเป็นการคาดคะเนคำตอบเพื่อแก้ไขปัญหานั้นนั่นเอง สมมติฐานจึงเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การพิสูจน์ค้นหาความจริงในการศึกษาค้นคว้า ด้วยกระบวนการวิจัย   ซึ่งในบทความนี้สามารถแบ่งการตั้งสมมติฐานออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. สมมติฐานการวิจัย (Research Hypothesis or Descriptive Hypothesis) เป็นข้อความที่เขียนในลักษณะบรรยายหรือคาดคะเนคำตอบของการวิจัย  ซึ่งข้อความดังกล่าวจะแสดงถึงความเกี่ยวข้องกันของตัวแปรในรูปของความมสัมพันธ์ หรือในรูปของความแตกต่างที่ได้คาดคะเนไว้ 
  2. สมมติฐานทางสถิติ (Statistical Hypothesis) เป็นสมมติฐานที่แปลงรูปมาจากสมมติฐานการวิจัยอยู่ในรูปแบบทางคณิตศาสตร์ โดยมีการแทนค่าด้วยสัญลักษณ์ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง และจะอ้างอิงไปสู่กลุ่มประชากรโดยการทดสอบสมมติฐาน

4. ขอบเขตการวิจัย

การระบุขอบเขตการวิจัย เป็นการกำหนดขอบเขตว่าสิ่งใดควรที่จะมีในงานวิจัยหรือไม่ควรมี โดยผู้วิจัยจะต้องเขียนออกมาเป็นข้อๆ หรืออาจเป็นการเขียนพรรณนา เพื่อให้กระบวนการวิจัยเฉพาะเจาะจงและครอบคลุมขึ้นได้ ซึ่งผู้วิจัยอาจพิจารณาจากปัญหา และวัตถุประสงค์ที่ได้ทำการศึกษาในเรื่องนั้นๆ เช่น กลุ่มของประชากร เพศ หรือช่วงอายุ ซึ่งขอบเขตนั้นจะต้องไม่มากจนเกินไป หรือแคบจนไม่เหมาะสมกับงานที่กำลังทำ และจะต้องสามารถทำให้งานวิจัยเสร็จทันภายในกำหนด 1 ภาคเรียน

ภาพจาก pexels.com

5. คำนิยามศัพท์เฉพาะ

คำนิยามศัพท์เฉพาะเป็นการสื่อสารคำ และข้อความที่ใช้ในการวิจัยเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างผู้วิจัยกับผู้อ่าน โดยการเขียนคำนิยามศัพท์เฉพาะผู้วิจัยจะต้องเขียนให้สอดคล้องกับแนวความคิดทางทฤษฏีที่ได้ทำการศึกษา หรือไม่คำนิยามศัพท์เฉพาะนั้นจะต้องสามารถปฏิบัติหรือวัดได้ เพื่อชี้นำไปสู่การวัดตัวแปรของงาน อาจกล่าวได้ว่าการนิยามศัพท์ถือว่าเป็นตัวที่ใช้บ่งชี้เฉพาะเจาะจงปัญหาการวิจัย ซึ่งสามารถแบ่งนิยามศัพท์เฉพาะออกเป็น 2 แบบด้วยกัน คือ

  1. นิยายศัพท์ตามทฤษฎี (Constitutive definition) หรือนิยามศัพท์ทั่วไป (General definition) เป็นการอาศัยแนวคิดเดิมที่ได้รับการยอมรับทั่วไปหรือใช้ตามทฤษฎีที่ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความหมายเฉพาะของคำศัพท์นั้นไว้
  2. นิยามศัพท์ปฏิบัติการ (Operational definition) เป็นการให้ความหมายในการอธิบายลักษณะของกิจกรรมที่สามารถวัด และสังเกตของตัวแปรนั้นได้ ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับศัพท์เฉพาะของตัวแปรที่เป็นนามธรรม ซึ่งตัวแปรที่เป็นนามธรรมจะต้องให้คำนิยามทั้งระดับนิยามศัพท์ทั่วไป และนิยามศัพท์ปฏิบัติการ หากใช้นิยามศัพท์ของผู้อื่นจะต้องทำการเขียนอ้างอิงถึงบุคคลที่นำมาด้วย 

6. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากงานวิจัย

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากงานวิจัยจะเป็นหัวข้อสุดท้ายของบทที่ 1 เป็นการเสนอแนวทางให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการวิจัย และประโยชน์ที่เกิดจากการที่ได้นำไปใช้ โดยผู้วิจัยจะต้องเขียนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และต้องอยู่ในขอบเขตของการวิจัยที่จะทำการศึกษา ซึ่งประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากงานวิจัยในครั้งนี้ จะต้องเขียนให้สั้น กะทัดรัด ชัดเจน และจะต้องมีความเป็นไปได้ของสิ่งที่จะเกิดขึ้น อาจจะเขียนพรรณนาเป็นย่อหน้าโดยไม่ต้องแยกเป็นข้อก็ได้

จากขั้นตอนที่ได้กล่าวมาข้างต้น อาจเป็นประโยชน์ในการนำไปสู่การพัฒนาการเขียนบทที่ 1 ที่ดีขึ้นของนักวิจัยมือใหม่ได้ หากผู้วิจัยทำตามเคล็ดลับในบทความที่ได้กล่าวไว้ใน 6 หัวข้อนี้ หากผู้วิจัยไม่มั่นใจสามารถหาผู้เชี่ยวชาญที่สามารถช่วยท่านได้ หรือขอคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขในงานวิจัยต่อไปได้

 

ช่องทางติดต่อ
Tel: 0924766638 คุณอาจุ้ย
อีเมล: ichalermlarp@gmail.com
LINE: @impressedu
(หยุดทุกวันอาทิตย์)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *